มาทำความรู้จักคำว่า “เหฺมฺรย”

หน้าแรก ย้อนกลับ มาทำความรู้จักคำว่า “เหฺมฺรย”

มาทำความรู้จักคำว่า “เหฺมฺรย”

มาทำความรู้จักคำว่า “เหฺมฺรย” 

      วันนี้น้องน้ำชุบ จะพาทุกคนมาทำความรู้จัก คำว่า “เหฺมฺรย1” ซึ่งเป็นชื่อภาพยนตร์ที่กำลังเป็นกระแสนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ ทั้งนี้แม้ว่าลูกหลานชาวใต้จะคุ้นเคยคำว่า “เหฺมฺรย” เป็นอย่างดี แต่หลาย ๆ ท่านในจังหวัดต่าง ๆ ยังไม่ทราบความหมายของคำว่า “เหฺมฺรย” ที่แน่ชัด ดังนั้นน้องน้ำชุบขออาสาพาทุกท่านไปตามติดความหมายของคำว่า “เหฺมฺรย” ซึ่งรองศาสตราจารย์อุดม หนูทอง ได้อธิบายไว้ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ดังนี้

      เหฺมฺรย คือข้อตกลงหรือพันธสัญญาที่บุคคลให้ไว้ต่อ สิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีบุรพาจารย์ เกี่ยวกับวิชาช่าง แพทย์แผนโบราณและการแสดง ตลอดจนผี ซึ่งสิงประจําสถานที่ต่าง ๆ เพื่อขออํานาจคุ้มครอง ขอความคลาดแคล้วจากภยันตราย ขอให้พ้นจากความวิบัติและเภทภัยที่ประสบอยู่ โดยมีพันธสัญญาว่า ถ้าการสําเร็จดังประสงค์ จะตอบแทนด้วยการเซ่นพลีบวงสรวงในรูปแบบต่าง ๆ มีการจัดมหรสพ จัดสํารับเครื่องสังเวย จุดระทาดอกไม้และยิงปืนถวาย เป็นต้น บางทีถึงขนาดพลีตนเข้าบวงสรวง มีการบวช
ออกพราน และหัดรําโนราถวายก็มี ข้อตกลงที่ให้ไว้ถ้าตกลงด้วยวาจา เรียกว่า “เหฺมฺรยปาก” ถ้ามีวัตถุพยานซึ่งใช้หมากพลู ดอกไม้ เทียนและข้าวสาร ห่อผ้าขาวประกอบคําตกลงด้วยก็เรียกว่า “เหฺมฺรยห่อ” ข้อตกลงที่ทําขึ้นถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เจ้าตัวสามารถบนบานเองได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องสําคัญถึงขั้นต้องประกอบพิธีกรรมจะต้องหาคนกลางซึ่งรอบรู้ เข้าใจธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันสืบต่อ ๆ กันมาเป็นผู้บนบานให้ คนกลางส่วนมากจะเป็นศิลปินพื้นบ้าน และพวกหมอไสยศาสตร์ สําหรับห่อเหฺมฺรยที่บนบานแล้ว เจ้าของเหมรยต้องเก็บไว้ในที่สูง เช่น หัวนอน และบนหิ้งครูหมอ เป็นต้น

      เมื่อการที่บนบานไว้สําเร็จดังประสงค์ เจ้าของเหฺมฺรย ต้องทําพิธีแก้เหฺมฺรยหรือแก้บนตามสัญญา และต้องให้ถูกถ้วนตามที่บนไว้ทุกประการ การแก้ถ้าเป็นเหฺมฺรยปากธรรมดา ๆ เจ้าของเหฺมฺรยสามารถแก้เองได้ โดยจัดเครื่องบวงสรวงตามที่ตกลงไว้ จุดเทียนแล้วประนมมือรําลึกถึงสิ่งที่บนไว้ เชิญมารับเครื่องบวงสรวง และขอให้เหฺมฺรยขาดไม่เป็นพันธะกันต่อไปอีก แล้วรินน้ำแบบกรวดน้ำให้ภูตผีได้ล้างปากล้างมือ เป็นเสร็จการแก้เหฺมฺรย แต่ถ้าเป็นเหฺมฺรยห่อหรือเหฺมฺรยปากที่เป็นพิธีรีตองมาก ๆ ต้องหาคนกลางซึ่งบนไว้มาเป็นคนทําพิธี แก้เสร็จแล้ว ต้องฉีกห่อเหฺมฺรยทิ้ง เพื่อแสดงว่าพันธะหมดกันไป

      ในการบนบาน บางครั้งเจ้าของเหฺมฺรยลืมเสียสนิทว่า ตนได้บนบานอะไร บางทีก็แกล้งทําลืมเข้าทํานองจะบิดพลิ้วสัญญาผี ภูตผีที่ถูกบนไว้อาจมาให้โทษเพื่อทวงสัญญา โดยทําให้ล้มป่วยออด ๆ แอดๆ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย อาการเป็นไปเช่นนี้เรียกว่า “ถูกเหฺมฺรย” จะต้องแก้เหฺมฺรยที่บนไว้เท่านั้น อาการจึงจะดีขึ้นและหายเป็นปรกติ

      ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องเหฺมฺรยยังมีอยู่อย่างแพร่หลาย ในสังคมชนบท โดยเฉพาะในหมู่ศิลปินพื้นบ้านมีอะไรเป็น ทุกข์แก้ไม่ได้ก็หันเข้าพึ่งภูตผีปิศาจแล้วก็มีการแก้เหฺมฺรยตามมาจนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม  

      หลังจากอ่านจบ หลายท่านคงรู้จักคำว่า “เหฺมฺรย” มากขึ้น ครั้งหน้า หากมีอะไรที่เป็นกระแส ข้อสงสัย เกี่ยวกับเรื่องใต้ ๆ น้องน้ำชุบ จะรีบรุดมาไขข้อข้องใจให้กับทุกท่านอีกครั้งนะคะ

1เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “เหฺมฺรย” (หน้า 8660-8661). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 18. (2542). มูลนิธิสารานุกรม วัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.

แชร์ 2002 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้